ประวัติความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่า
ตำบลตะกั่วป่า จังหวัดขอนแก่น
*********************************************
ตำบลตะกั่วป่าจากการศึกษารวบรวมข้อมูลจากหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน และคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ สืบค้นได้ว่าการตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกนั้น
ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือ กลุ่มพ่อค้าจากทุ่งสำฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนคราชสีมา ผ่านมาเห็นบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำห้วยตะกั่วไหลผ่าน ( ลำน้ำห้วยตะกั่วมีต้นน้ำไหลจากบ้านห้วยตะกั่ว ตำบลดอนดู่ ผ่านตำบลหนองไผ่ล้อม,ตำบลตะกั่วป่า อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เข้าเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปบรรจบกับลำสะแทด ที่บริเวณบ้านพลับ ตำบลหายโศก อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ) และยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีน้ำตลอดทั้งปีคือ หนองสระยาง,หนองซ่องแมว, หนองคู, โดยได้ก่อตั้งหมู่บ้านอยู่ที่โนนบ้านนา (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านในปัจจุบัน) กลุ่มนี้เป็นต้นตระกูล “เพ็ชรตะกั่ว”
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มนายพรานที่เดินทางมาจาก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาล่าสัตว์และคล้องช้างซึ่งบริเวณนี้มีสัตว์ป่าจำนวนมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงได้ก่อตั้งหมู่บ้านอยู่ที่บริเวณโนนหนองคู (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านปัจจุบัน) ห่างจากชุมชนกลุ่มแรกประมาณ 1 กิโลเมตร ชนกลุ่มนี้มีสัญลักษณ์คือจะประกอบพิธีเลี้ยงบูชาประกรรมทุกปี กลุ่มนี้เป็นต้นตระกูล “ชาญตะกั่ว”
เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกิดความมั่งคั่งชาวบ้านมีทรัพย์สินของมีค่ามากทำให้หมู่บ้านอื่นที่ยากจนและอดอยาก รวมตัวกันเป็นกลุ่มโจรเข้ามาปล้นบ่อยครั้ง ประกอบกับเกิดโรคอหิวาระบาด ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ชนทั้งสองกลุ่มจึงได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านรวมกันบริเวณหนองสระยางซึ่งเป็นบริเวณหมู่บ้านปัจจุบัน ให้ชื่อว่าบ้านตะโกป่า (บริเวณนี้มีต้นตะโกป่าเป็นจำนวนมาก) อีกตำนานหนึ่งเล่าว่าชื่อหมู่บ้านมาจากลำห้วยตะกั่วจุดบริเวณบ้านตะกั่วป่านี้ มีความลึกมากถ้าใช้ลำไม้ไผ่ทั้งต้นวัดระดับความลึกดู จะลึกเท่ากับลำไม้ไผ่ทั้งลำและบางครั้งจะมีคนมองเห็นก้อนตะกั่วขนาดใหญ่ลอยอยู่แต่พอเข้าไปไก้ลกลับไม่เห็น หรือบางครั้งก็กลายเป็นก้อนหินซึงชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเรื่องลึกลับและเรียกชื่อบ้านตะกั่วป่าตามตะกั่วที่พบ และยังเป็นข้อถกเถียงเรื่องการตั้งชื่อหมู่บ้านกันมาจนถึงปัจจุบัน
การรวมหมู่บ้านก่อตั้งหมู่บ้านตะกั่วป่าครั้งแรกนั้น ประมาณปี พ.ศ.2340 ขึ้นการปกครองกับตำบลโพนเพ็ก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาตำบลโพนเพ็กเป็นตำบลใหญ่การปกครองดูแลจากทางราชการไม่คลอบคลุมพื้นที่เท่าที่ควร กลุ่มโจรมีจำนวนมากและเข้าปล้นบ้านตะกั่วป่าบ่อยครั้งทางอำเภอบัวใหญ่จึงแบ่งการปกครองโดยให้ยกฐานะบ้านตะกั่วป่าขึ้นเป็นตำบลตะกั่วป่า
โดยให้ขุนชาญชนิด เป็นกำนันคนแรก มีเขตรับผิดชอบคือ ตำบลตะกั่วป่า,ตำบลดงเค็ง,ตำบลหนองสองห้อง,ตำบลหนองไผ่ล้อมในปัจจุบัน ต่อมาขุนชาญชนิดเสียชีวิตเนื่องจากโรคอหิวาระบาด ทางอำเภอบัวใหญ่จึงให้ตำบลตะกั่วป่าซึ่งขาดกำนัน กลับไปขึ้นการปกครองกับตำบลโพนเพ็ก อำเภอบัวใหญ่ตามเดิม การยุบรวมทำให้เกิดเหตุการณ์เดิมขึ้นอีกคือการปกครองดูแลจากทางราชการไม่คลอบคลุมเกิดการปล้นชิงทรัพย์บ่อยครั้งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
นายอำเภอบัวใหญ่จึงแต่งตั้งนายพิม คนรู้ ชาวบ้านเล้าเป็นกำนันคนที่ 2 ขึ้นตรงต่อ อำเภอบัวใหญ่ การขึ้นตรงต่ออำเภอบัวใหญ่ระยะทางระหว่างตำบลตะกั่วป่าถึงอำเภอบัวใหญ่มีระยะทางห่างไกลการเดินทางไม่สะดวกทำให้เกิดความยากลำบากในการติดต่อราชการของประชาชน ทางราชการจึงให้ตำบลตะกั่วป่ามาขึ้นการปกครองกับอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ในสมัยของกำนันพิม กำนันพิม คนรู้ ออกจากตำแหน่งเนื่องจาก พิการทางสายตา
ต่อมาแต่งตั้งนายวัน ไผ่ล้อม ชาวบ้านหนองไผ่ล้อม เป็นกำนันคนที่ 3 ในสมัยกำนันวันได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการกำหนดให้ตำบลตะกั่วป่ามีหน้าที่ส่งเสบียงและม้าซึ่งในสมัยนั้นม้ามีจำนวนมาก แต่กำนันวันส่งเสบียงล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการจึงถูกปลดออก
และแต่งตั้งนายบัว จงเทพ ชาวบ้านเมยเป็นกำนันแทน เป็นกำนันคนที่ 4 กำนันบัวอยู่ในตำแหน่งประมาณ 2 ปีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะประพฤติตัวไม่เหมาะสม
และแต่งตั้งนายแก้ว จากนอก ชาวบ้านหัวหนองแทน เป็นกำนันคนที่ 5
ในสมัยกำนันแก้วนี้เองบ้านหนองสองห้องยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอหนองสองห้อง ทางราชการจึงแบ่งเขตการปกครองใหม่โดยยึดถนนสายอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ – อำเภอพลเป็นแนวเขต โดยให้หมู่บ้านที่อยู่ฝั่งตะวันออกของถนนขึ้นตรงต่อตำบลตะกั่วป่า และหมู่บ้านที่อยู่ฝั่งตะวันตกขึ้นตรงต่อตำบลหนองสองห้อง เมื่อหมดสมัยของกำนันแก้ว
นายกว่าง ดีเดิม ขึ้นเป็นกำนัน คนที่ 6 เป็นชาวบ้านตะกั่วป่าและในสมัยนี้มีการแยกตำบลหนองไผ่ล้อมออกจากตำบลตะกั่วป่า ตำบลตะกั่วป่าจึงมีพื้นที่เท่ากับปัจจุบัน
เมื่อหมดสมัยนายกว่างนายเทียง ศิลป์ประกอบ ชาวบ้านดอนตะแบงขึ้นเป็นกำนันแทนเป็นกำนันคนที่ 7 หลังจากนั้น
นายทองใบ แพงพูนขึ้นเป็นกำนันแทน เป็นกำนันคนที่8 และ กำนันทองใบหมดวาระ
นายเอี่ยม สันติรักษ์พงษ์ ขึ้นเป็นกำนัน เป็นกำนันคนที่ 9 หมดสมัยกำนันเอี่ยม
นายแหล่ ช่างการ ชาวบ้านดอนตะแบงขึ้นเป็นกำนันแทนเป็นกำนันคนที่ 10 เมื่อกำนันแหล่หมดวาระ
นายประยูร สร้างนานอก ขึ้นรับตำแหน่งกำนันตำบลตะกั่วป่า คนที่ 11
นายสุพรรณ หรุ่งเป้า กำนันตำบลตะกั่วป่า คนปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2539 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 52ง โดยสภาตำบลตะตะกั่วป่า เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่าลำดับที่ 289 ประกาศ ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539
ในสมัยของกำนันทองใบ แพงพูน กำนันเป็นประธานกรรมการบริหารสภาตำบลโดยตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ.2545 นายทองใบ แพงพูนลาออกจากตำแหน่งกำนัน ลงรับสมัครรับเลือกตั้งนายกององค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่า และได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่า นายกทองใบเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่า 1 สมัย ปี พ.ศ.2545- 2548
สมัยต่อมานายสมชาย สง่าภาคภูมิ ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกองค์การส่วนตำบลคนที่ 2 และดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ 2549 – 2552 และนายสมชาย สง่าภาคภูมิ ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตำกั่วป่าเป็นสมัยที่ 2 โดยชนะการเลือกตั้งในวันที่ 6 กันยายน 2552 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะกั่วป่า จนถึงปัจจุบัน..